อุทยานแห่งชาติทะเลบัน

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสตูล ถึงแม้จะมีชื่อว่าทะเลบัน แต่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติทางทะเล แต่เป็นการเรียกชื่อหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการยุบตัวของพื้นดินในอดีต พื้นที่ป่าทางด้านทิศใต้ของจังหวัดสตูล บริเวณชายแดนของประเทศกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวชายแดนประกอบด้วยความแตกต่างของสภาพโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ ชนิดของป่าและสัตว์ป่านานาชนิด มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เล่าขานกันมาว่า พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านวังประจัน บริเวณรอยต่อระหว่างเขามดแดง ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินปูนกับเขาจีนซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาหินแกรนิตได้เกิดยุบตัวลงเกิดเป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ เรียกภาษาท้องถิ่นว่า “เลิดเรอบัน” และได้เพี้ยนเป็น“ทะเลบัน”

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างเส้นรุ้งที่ 6 องศา 25 ลิปดา – 6 องศา 48 ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 05 ลิปดา – 100 องศา 13 ลิปดา ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกจดอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทิศใต้จดรัฐเปอร์ลิส ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วย เขาวังช้าง เขาหินร้อง เขาวังพะเนียด เขาจีน เขามดแดง เขาหาบเคย เขากวงใหญ่ เขากวงเล็ก เขาวังหมู เขาวังกลวง เขากายัง เขากล่ำ เขาปูยู และเขาวังกูนอง มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ในเทือกเขาจีน สูงประมาณ 756 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาทางด้านอำเภอเมืองหรือด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติมีลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนในยุคออร์โดวิเชียน (500-435 ล้านปีมาแล้ว) หินดินดาน และหินควอร์ตไซต์ ซึ่งมีการกัดเซาะตามธรรมชาติจึงเกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่หลายแห่งเช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดี่ยว และถ้ำลอดปูยู เป็นต้น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอควนโดนจะเป็นหินแกรนิตในยุคครีเทเชียส (141-65 ล้านปีมาแล้ว) และหินแกรโนไดโอไรต์ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติทะเลบันยังได้รวมพื้นที่อีก 1 เกาะ ซึ่งติดแนวเขตประเทศ คือ เกาะปรัสมานา เทือกเขาจีนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ประกอบด้วยลำธารย่อย ๆ มากมายที่สำคัญคือ คลองกลางบ้าน คลองยาโรย คลองตูโย้ะ มีน้ำตกที่สวยงาม 2 แห่ง ได้แก่ น้ำตกยาโรย และน้ำตกโตนปลิว ส่วนทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขาบ่อน้ำมีคลองท่าส้ม และบริเวณแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทางทิศตะวันตก เป็นลำธารน้ำกร่อยและน้ำเค็มในพื้นที่ป่าชายเลนตลอดแนวตะวันตก

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ตั้งอยู่ในท้องที่ของจังหวัดหนองบัวลำภู พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 50 ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ มีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในบริเวณตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพธรณี เป็นภูเขาหินทรายซึ่งมีชั้นของของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดาน หรือหินดินดานปนทรายเป็นฐานด้านล่าง มีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทราย กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง

ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มี ความสลับซับซ้อนมาก มีสัณฐานคล้ายกะทะหงายโดยมีที่ราบอยู่ตอนกลาง พื้นที่เช่นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ส่วนนี้น่าจะเป็นซากภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทไปแล้วหลายร้อยล้านปี หรือมิฉะนั้นก็เป็นการโก่งตัวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ขึ้นมาเป็นขอบ เทือกเขา เทือกเขาภูเก้าเป็นเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชัน มาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ สูงๆ ต่ำ ๆ บางแห่งเป็นที่ราบ

ภูพานคำ เป็นแนวทิวเขายาวในเทือกเขาภูพาน เรียงตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาเป็นแอ่งที่ราบต่ำลุ่มน้ำพอง ซึ่งเป็นหุบเขาขนาดใหญ่ เมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่ดังกล่าวนี้กลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนภูพานคำ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นดินปนหิน